ประวัติ ของ นาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา

"อันวิชากระบี่กระบองนี้ ข้าพเจ้ากล้าพูดได้อย่างเต็มปากโดยไม่มีความกระดากเลยแม้แต่น้อย ว่าเป็นกีฬาของไทยเราโดยแท้ เป็นน้ำพักน้ำแรงของบรรพบุรุษผู้เป็นนักรบที่กล้าหาญ ซึ่งได้ลงทุนลงแรงไว้ด้วยความเสียสละ อุตส่าห์บากบั่นหาทางที่จะอบรมให้มีเลือดเนื้อเชื้อชาติทหาร อันเป็นวีระกรรมประจำชาติของไทย ซึ่งมีมาแต่ไหนแต่ไร มิให้เสื่อมคลายหรือจืดจางลงไปได้ จึงได้อบรมสั่งสอนสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงพวกเราสมัยนี้ การที่ข้าพเจ้ากล้ายืนยันได้หนักแน่นขนาดนี้ ก็เพราะข้าพเจ้าไม่เคยเห็นกีฬาชนิดนี้ในต่างประเทศเลย จะเป็นทางตะวันตกหรือตะวันออกก็ตาม และถ้าเคยมีปรากฏในสมัยก่อน ๆ มาบ้างแล้ว เชื่อแน่ว่าคงจะไม่สูญสิ้นพันธุ์เสียทีเดียว คงจะยังเหลือเป็นมรดกตกทอดเอาไว้ให้แก่ชนชั้นหลังบ้างไม่มากก็น้อย แต่นี่ก็ไม่มีร่องรอยเอาเสียเลยจึงทำให้ภาคภูมิใจที่จะกล่าวได้ว่ากระบี่กระบองของเราเป็นหนึ่งเดียวในโลก"
—คำปรารภของ อาจารย์นาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา

อาจารย์นาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นผู้หนึ่งที่ได้เล่าเรียนวิชานี้ มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และเป็นผู้ที่รักใคร่ในศิลปะวิชานี้อยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อท่านได้แลเห็นต่างชาติภูมิใจในศิลปะประจำชาติของเขา เช่น ชาติเยอรมันและญี่ปุ่น ยกย่องวิชาฟันดาบและยูโดของเขาว่าดีเยี่ยมที่สุด และอนุรักษ์ เผยแพร่ให้เป็นที่ประจักษ์แก่โลกมากเพียงใด ยิ่งทำให้ท่านบูชาวิชากระบี่กระบองของไทยไว้เหนือสิ่งอื่นใดมากขึ้นเพียงนั้น ในโอกาสที่ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนพลศึกษากลาง ท่านได้ลองเริ่มสั่งสอนนักเรียนพลศึกษากลางขึ้นเป็นครั้งแรก

เมื่อ พ.ศ. 2478 ท่านได้ทดลองบรรจุสอนวิชากระบี่กระบองขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2478 ทดลองสอนอยู่ 1 ปี ได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจของท่านผู้ใหญ่ เพราะเห็นว่าวิชากระบี่กระบองนั้นมีประโยชน์ในการฝึกกำลังใจให้กล้าหาญเป็นลูกผู้ชาย ฝึกกำลังกายและความคล่องแคล่วว่องไวในการป้องกันตัวและการใช้อาวุธยิ่งกว่านั้นยังเป็นการให้ผู้เรียนได้ฝึกจิตให้เกิดสมาธิ และมีความกตัญญูกตเวทีต่อครูอาจารย์ผลจากการทดลองบรรจุวิชานี้ในการเรียนการสอนแก่นักศึกษา จึงได้กำหนดวิชากระบี่กระบองไว้ในหลักสูตรของประโยคครูผู้สอนพลศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2479

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ได้มีผู้เล่าเรียนและสำเร็จมากขึ้นตามลำดับ บรรดาผู้ที่เล่าเรียนสำเร็จ ซึ่งโดยมากออกไปรับราชการเป็นครูสอนวิชาพลศึกษาอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้พยายามนำวิชากระบี่กระบองไปเผยแพร่ และเป็นที่น่าสนใจของชาวไทยเป็นอย่างมาก

ใน พ.ศ. 2518 กระทรวงศึกษาธิการ ได้บรรจุวิชากระบี่กระบองเข้าไว้ในหลักสูตรประโยคมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งได้จัดเป็นวิชาบังคับเลือกของหมวดวิชาพลานามัยและใน พ.ศ. 2521 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533) ก็ได้บรรจุวิชากระบี่ไว้ในหลักสูตรของมัธยมศึกษาตอนต้น จนกระทั่งปัจจุบันนี้ได้บรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนทั่วไป จึงนับว่าศิลปะชิ้นเอกนี้ นอกจากจะไม่สูญหายไปจากโลกแล้ว คงจะเจริญก้าวหน้าเอาไว้อวดหรือแสดงถึงความเป็นเจ้าของวิชาการแขนงนี้ได้ในอนาคต เพื่อให้เยาวชนของชาติได้ศึกษาเล่าเรียน และรักษาไว้ซึ่งมรดกอันล้ำค่าของชาติได้ดำรงอยู่คู่แผ่นดินไทยตลอดไป